ข้อมูลการใช้ถ่านหินในอุตสาหกรรม


ข้อมูลของถ่านหินจะมีการแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ


ถ่านหินภายในประเทศ

     
1. แหล่งและปริมาณสำรองของถ่านหินในประเทศ
ประเทศไทยมีปริมาณสำรองถ่านหินมากกว่า 2,000 ล้านตัน โดยในจำนวนนี้คิดเป็นปริมาณสำรองที่ประเมินแล้ว (Measured Reserve) ประมาณ 1,100 ล้านตัน แหล่งถ่านหินส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณตอนเหนือของประเทศ โดยมีศักดิ์ของถ่านหิน (Coal Rank) อยู่ในระดับลิกไนต์ (Lignite) ซับบิทูมินัส (Sub-Bituminous) จนถึงบิทูมินัส (Bituminous) มีบ้างที่มีศักดิ์เป็นแอนทราไซต์ (Anthracite) แต่มีปริมาณเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งพบได้ที่แหล่งในจังหวัดเลย ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

2. การผลิตถ่านหินในประเทศ
ถ่านหินของประเทศส่วนใหญ่มาจากเหมืองของแม่เมาะของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ตั้งอยู่ที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ซึ่งในปี พ.ศ. 2543 มีปริมาณการผลิตลิกไนต์ถึง 13.6 ล้านตัน คิดเป็นปริมาณมากกว่า 3 ใน 4 ของปริมาณการผลิตทั้งประเทศ นอกจากนี้ยังมีแหล่งผลิตถ่านหินสำคัญอีก 3 แหล่ง คือ แหล่งที่ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน มีกำลังการผลิตรวม 1.9 ล้านตัน แหล่งที่ อำเภอสบปราบ จังหวัดลำปาง ปริมาณการผลิต 1.6 ล้านตัน และแหล่ง อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยามีประมาณการผลิต 0.2 ล้านตัน ซึ่งทั้ง 3 แหล่งนี้ดำเนินการผลิตโดยบริษัทเอกชน นอกจากนี้มีการผลิตจากแหล่งอื่นๆ เล็กน้อยรวมกันแล้วประมาณ 0.4 ล้านตัน



ถ่านหินที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ


ประเทศไทยมีการนำเข้าถ่านหินคุณภาพสูง โดยมีการนำเข้าถ่านหินบิทูมินัสในปริมาณมากที่สุด เนื่องจากแหล่งถ่านหินส่งออกของภูมิภาคนี้ส่วนใหญ่ผลิตถ่านหินบิทูมินัส ซึ่งมีคุณภาพดี โดยในปี 2544 มีมูลค่ากว่าครึ่งหนึ่งของมูลค่าการนำเข้าถ่านหินทั้งหมด รองลงมาได้แก่ถ่านหินแอนทราไซต์ และถ่านโค้กและเซมิโค้ก ตามลำดับ โดยมีปริมาณนำเข้าถ่านหินจากประเทศอินโดนีเซียมากที่สุดประมาณร้อยละ 65 รองลงมาได้แก่ เวียดนาม พม่า ออสเตรเลีย จีน ลาว และอื่นๆ ตามลำดับ เนื่องจากการเลือกใช้ถ่านหินขึ้นอยู่กับคุณภาพและระยะทางขนส่ง การนำเข้าถ่านหินจึงมาจากประเทศใกล้เคียง เพื่อให้ได้ถ่านหินที่มีคุณภาพดีในราคาที่เหมาะสมนั่นเอง



การใช้ถ่านหินในประเทศไทยและแนวโน้มในอนาคต


 การใช้ถ่านหินภายในประเทศจำกัดอยู่ในลักษณะที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงสันดาปโดยตรง และใช้เป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตและใช้ความร้อนใน 2 ภาค การผลิต คือ
1)ภาคการผลิตไฟฟ้า (Power Sector)
2)ภาคอุตสาหกรรม (Non-power Sector or Industrial Sector)
     ถ่านหินที่ใช้ในประเทศไทยส่วนใหญ่ใช้ในการผลิตภาคไฟฟ้าถึงร้อยละ 81 ที่เหลือร้อยละ 19 ใช้ในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเรียงตามลำดับการใช้จากมากไปหาน้อยได้ ดังนี้ อุตสาหกรรมซีเมนต์ กระดาษ เยื่อไฟเบอร์ อาหาร ปูนขาว ใบยาสูบ โลหะ แบตเตอรี่ และอื่นๆ


ขอบคุณข้อมูลจาก กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น