แหล่งพลังงานความร้อนใต้พิภพของไทย

สถานภาพปัจจุบันของพลังงาน


แหล่งพลังงานความร้อนใต้พิภพของไทย
แหล่งน้ำพุร้อนในประเทศไทยมักจะพบอยู่ในบริเวณหินภูเขาไฟที่ดับแล้ว หรืออยู่บริเวณใกล้มวลหินแกรนิตและหินตะกอนอายุต่างๆ กันจากข้อมูลการสำรวจแหล่งน้ำพุร้อนของกรมทรัพยากรธรณี พ.ศ. 2530 พบแหล่งน้ำพุร้อนแล้วมากกว่า 100 แห่ง กระจายอยู่ในทุกภูมิภาค ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมีอุณหภูมิน้ำร้อนที่ผิวดินอยู่ในช่วง 40-100oC
การพัฒนาพลังงานความร้อนใต้พิภพและการใช้ประโยชน์ แหล่งน้ำพุร้อนหลายแหล่ง บริเวณภาคเหนือมีศักยภาพสูง สามารถพัฒนาผลิตกระแสไฟฟ้า หรือใช้ประโยชน์โดยตรง หน่วยงานต่างๆ ที่ได้ดำเนินการสำรวจแหล่งน้ำพุร้อน เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยสำรวจแหล่งพลังงานความร้อนใต้พิภพ เพื่อต้องการใช้เป็นพลังงานในการผลิตกระแสไฟฟ้า กรมทรัพยากรธรณีและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ศึกษาเพื่อจำแนกขนาดของศักยภาพแหล่งพลังงานความร้อนแต่ละแหล่ง และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน สำรวจพัฒนาใช้ประโยชน์จากน้ำพุร้อนโดยตรงเพื่อการอบแห้งพืชผลเกษตรกรรม


         เพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้า

        ตัวอย่างเช่นแหล่งน้ำพุร้อน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นโครงการเอนกประสงค์พลังงานความร้อนใต้พิภพแห่งเดียวในประเทศไทย ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้พัฒนาผลิตกระแสไฟฟ้าและใช้ประโยชน์โดยตรง แหล่งน้ำพุร้อนฝางมีบ่อน้ำร้อนมากกว่า 100 บ่อ โผล่ให้เห็นอยู่ในหินแกรนิตยุคคาร์บอนิเฟอรัส อุณหภูมิของน้ำพุร้อนสูงกว่า 90°C และอัตราการไหลขึ้นมาเองตามธรรมชาติของน้ำพุร้อน วัดได้ 22.4 ลิตร/วินาที การศึกษาขั้นต้นบ่งชี้ว่า อัตราการไหลของน้ำร้อนจากบ่อเจาะสำรวจตื้นประมาณ 100 เมตร มีความเหมาะสมต่อการนำมาผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยระบบ 2 วงจร (binary cycle) ขนาดกำลังผลิต 300 กิโลวัตต์ ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2532 จึงได้ทำการติดตั้งโรงไฟฟ้าสาธิตที่ใช้พลังงานความร้อนใต้พิภพเป็นแห่งแรกในประเทศไทยและเป็นแห่งแรกในเอเชียอาคเนย์ด้วย กระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ปีละประมาณ 1,200,000 กิโลวัตต์-ชั่วโมง จะถูกส่งต่อเข้ากับระบบสายส่งไฟฟ้าเพื่อจ่ายให้ผู้ใช้ไฟฟ้าต่อไป 


       ด้านอุตสาหกรรมและการเกษตร


     น้ำพุร้อนที่มีอุณหภูมิไม่สูงมาก หรือน้ำร้อนที่ปล่อยออกมาหลังจากกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าจากน้ำพุร้อน สามารถนำมาใช้ประโยชน์ด้านอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมโดยนำไปใช้ในห้องอบแห้ง และห้องทำความเย็นเพื่อรักษาผลผลิตทางการเกษตร ดังนี้
- ห้องอบแห้ง (Drying room) ผลพลอยได้จากน้ำร้อนที่ปล่อยจากโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำพุร้อนฝาง จ. เชียงใหม่ (ณ. อุณหภูมิ 77 °ซ) จะไหลเวียนเป่าเข้าไปในห้องอบแห้ง ซึ่งทำเป็นชั้นๆ สำหรับวางผลิตผลการเกษตร
- ห้องทำความเย็น (Cooling storage room) น้ำร้อนที่เหลือปล่อยออกมาจากโรงไฟฟ้านำมาพัฒนาเป็นห้องเย็นโดยใช้ระบบการดูดซับความเย็น ซึ่งจะรักษาอุณหภูมิอยู่ที่ประมาณ 4 °ซ สามารถเก็บรักษาผลิตผลทางการเกษตรให้ยาวนานขึ้น
- น้ำอุ่นบางส่วนที่เหลือจากกระบวนการดังกล่าวข้างต้น ซึ่งยังเป็นน้ำที่สะอาดอยู่จะถูกส่งผ่านลำธารน้ำตามธรรมชาติ ไปใช้ในการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร

ทั้งนี้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ได้ทำการสาธิตการใช้พลังงานหมุนเวียนจากพลังความร้อนใต้พิภพ โดยการก่อสร้างโรงอบแห้งและห้องเย็นเก็บพืชผลการเกษตร ที่แหล่งน้ำพุร้อนแม่จัน เชียงราย คาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จประมาณ เดือนกันยายน 2548


     ด้านสันทนาการและการท่องเที่ยว


    น้ำพุร้อนถูกนำมาใช้สำหรับการอาบและดื่มน้ำพุร้อน ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้สุขภาพดีขึ้น และสามารถรักษา บรรเทาอาการบางอย่างที่เป็นสาเหตุของโรคร้ายต่างๆ ได้ เช่น ความดันโลหิต ปวดกระดูกไขข้อเสื่อมหรืออักเสบ ระบบทางเดินหายใจ โรคผิวหนัง ริดสีดวงทวาร ดังนั้นแหล่งน้ำพุร้อนหลายแห่งจึงได้ถูกพัฒนาเป็นแหล่งสันทนาการเพื่อการท่องเที่ยว


ข้อมูลจาก กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น