ประเทศไทยกับโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์

การแบ่งโรงงานไฟฟ้า



สัมภาษณ์ ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์
สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT)
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


โดย วิรุฬหกกลับ








ภาวะขาดแคลนพลังงานเป็นปัญหาที่ทุกประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ หลายประเทศเริ่มหันมาพึงพาพลังงานจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามก็เริ่มขยับเรื่องนี้อย่างเป็นจริงเป็นจัง ในขณะที่ประเทศไทย มีการใช้พลังจากหลายแหล่งและกว่า 60 เปอร์เซ็นต์จากพลังงานในระบบของประเทศ ไทยเราใช้พลังงาน จากก๊าซธรรมชาติที่ได้จากอ่าวไทยเป็นหลัก ซึ่งนับวันมีแต่จะร่อยหรอลงไป ในขณะที่แหล่งพลังงานอย่างอื่นเช่นพลังงานจากน้ำซึ่งต้องอาศัยการสร้างเขื่อนก็ดูไม่เหมาะกับประเทศไทยในปัจจุบันที่เริ่มพื้นที่ในการสร้างได้ยากยิ่งขึ้น ซ้ำประเด็นการอนุรักษ์ธรรมชาติก็เป็นเรื่องที่ถูกนำมาถกและพูดคุยกันอยู่เสมอ ดังนั้น เหมือนประหนึงว่าทางเลือกของแหล่งพลังงานจากไทยมีอยู่ไม่กี่ทางและ โครงการโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ก็ถือว่าเป็นตัวเลือกหนึ่งที่มีการนำมาพูดคุยกันอยู่เสมอ ในขณะที่ความหวาดกลัวต่อปฎิกริยานิวเคลียร์ยังมีอยู่ทั่วไปในประชาชนคนไทยที่เกรงกลัวถึงภัยอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์


ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ อาจารย์ประจำสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติ สิรินธร (SIIT) ม.ธรรมศาสตร์ ผู้ซึ่งมีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการเกี่ยวกับโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย เปิดเผยกับเราว่า


“ปัญหาเรื่องพลังงานของเมืองไทยนี้ จริงๆมันมีอยู่สองทาง คือการซื้อมาจากข้างนอก เช่น ไทยซื้อจากจีน จากลาว ก็ต้องลงทุน แต่มีความเสี่ยง ถ้าเขาไม่ขายให้เราก็แย่ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุดคือการที่เราสามารถพึงตนเองได้ โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ก็จะเป็นทางเลือกทางหนึ่ง ราคาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมาก อาจจะเพิ่มขึ้นแต่ว่าเพิ่มขึ้นไม่มาก ข้อดีอีกอย่าง คือการซื้อขายพลังงานพวกนี้จะมีการทำสัญญาที่ค่อนข้างจะยาวนาน เพราะฉะนั้นการซื้อขายในลักษณะนี้ การเปลี่ยนแปลงก็จะมีไม่ค่อยเยอะ อย่างเราตกลงกันแล้วเขาก็จะมีให้เรา
ทางด้านเชื้อเพลิงยูเรเนียมมีอยู่เยอะพอสมควรปัญหาการขาดแคลนยังมีอยู่น้อยความเหมาะสมกับของประเทศไทยที่จะโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์มีอยู่มากเมื่อเทียบกับทางเลือกอย่างอื่น มันยังมีผลดีของทางด้านสิ่งแวดล้อมด้วย ถ้าใช้พลังงานน้ำก็มีปัญหาทางด้านพื้นที่ ใช้ก๊าซเราก็ไม่มีมากนัก และที่สำคัญ ก๊าซปล่อยคาร์บอนไดออกไซต์ ขณะที่นิวเคลียร์ไม่มีปัญหาในเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นพิจารณา ในเรื่องนี้ความเหมาะสมเป็นองค์ประกอบหนึ่งไม่ใช่องค์ประกอบหลัก ถือว่าเป็นองค์ประกอบหนึ่งเป็นทางเลือกที่ดี ”.



ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์


สำหรับการตั้งโรงงานนิวเคลียร์ขึ้นมาต้องผ่านขั้นตอนกระบวนการกลั่นกรองมากมาย โดยพื้นที่ก่อสร้างจะต้องไม่เป็นพื้นที่ที่อยู่ในแนวแผ่นดินไหว ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องนำมาพิจารณาเป็นอันดับต้นๆ เพราะหากเกิดการเคลื่อนของแผ่นเปลือกโลกจากแนวแผ่นดินไหวขึ้นมาก็อาจจะก่อให้เกิดความเสียหาย กับโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ได้ ทั้งยังต้องพิจารณาในประเด็นต่างๆอีกมากมาย เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะเสี่ยง เช่น ไม่อยู่ในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดสึนามิ เป็นพื้นที่ที่น้ำท่วมไม่ถึง ไม่อยู่ใกล้ชุมชนเกินไป ทั้งยังต้องไม่อยู่ในพื้นที่สำคัญเช่นอยู่ใกล้จุดสำคัญต่างๆเช่น เขตป่าสงวน แหล่งโบราณสถาน อุทยานแห่งชาติ หรือในทางด้านวิศวกรรมก็ต้องพิจารณาถึงความเหมาะสม เพื่อเลือกสถานที่ที่ไม่มีการยุบตัว


“การตั้งโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้นมาสักแห่งต้องผ่านการพิจารณาที่ละเอียดถี่ถ้วนมากต้องมีผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆเข้ามาร่วมกันพิจารณา นอกจากกฎระเบียบต่างๆแล้ว ตัวอาคารที่สร้างโรงงานนิวเคลียร์เองนี้เขากำหนดไว้เลยว่าจะมีมากถึง 5 ชั้น ชั้นนอกสุดจะเป็นคอนกรีตที่หนาเกือบ 2 เมตร สมมติถ้า ในกรณีที่แย่ที่สุดคือเกิดการระเบิดขึ้นมามันก็จะไม่ทำให้โครงสร้างที่อยู่ข้างนอก ที่เป็นคอนกรีตนี้พังลงมาได้ เพราะฉะนั้นถ้าระเบิดมันก็อยู่ข้างในนั้ นทิ้งไว้ก็จะไม่มีอันตรายอะไรถ้าไม่มีใครไปยุ่ง เพียงแต่เสียพื้นที่ตรงนั้นไป แต่ขั้นตอนกว่าที่จะสร้างโรงงานขึ้นมาได้ มันใช้เวลานานมาก”


สำหรับประเทศไทยมีความคิดที่จะสร้างโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2517 โดยในขณะนั้นมีโครงการจะสร้างในบริเวณ อ่าวไผ่ จังหวัดชลบุรี แต่ในขณะนั้นได้มีการขุดพบก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย จึงทำให้โครงการดังกล่าวหยุดชะงักไป ก่อนที่จะมีการนำมาปัดฝุ่นกันอีกครั้งในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาความเป็นไปได้ และเลือกสถานที่ในการก่อสร้าง


“ขณะนี้เริ่มมีการพิจารณาเรื่องการสร้างโรงงานนิวเคลียร์ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการเลือกสถานที่ ได้สถานที่ในเบื้องต้นมาหลายสถานที่ก็กำลังศึกษาในเชิงลึกว่าสถานที่ไหน เหมาะสมที่สุด ซึ่งตัวสถานที่ยังไม่สามารรถเปิดเผยได้
ถ้าจะสร้างก็คงมีความเป็นไปได้สูงว่าจะติดกับน้ำทะเลตรงบริเวณที่มีชายฝั่งมากกว่า เพราะโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ต้องการปริมาณน้ำที่สูง การที่จะสร้างโดยใช้น้ำจืดค่อนข้างจะมีปัญหา เพราะหากมีการสร้างในแหล่งน้ำจืด ก็หมายความว่าเขาต้องเก็บน้ำเพื่อเก็บไว้ใช้ในโรงงานนิวเคลียร์ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบต่อการเกษตร เพราะฉะนั้นวิธีการที่เราคิดกันก็คือสร้างในบริเวณที่ติดกับทะเลเพราะสามารถนำน้ำทะเลมาใช้ในโรงงานนิวเคลียร์ได้ ”


การสร้างโรงานไฟฟ้านิวเคลียร์จำเป็นต้องได้รับการฉันทานุมัติจากประชาชนซึ่งอาจจะมาในรูปของการทำประชาพิจารณ์และหากประชาชนชาวไทยเห็นพ้องต้องกันว่าต้องการให้สร้างโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้นมาจริงๆแล้วละก็จะมีการดำเนินงานก่อสร้างโดยแผนพลังงานของประเทศไทยกำหนดให้มีการสร้างโรงงานไฟฟ้าพำลังงานนิวเคลียร์ในระยะแรก 4 โรงย่อยอยู่ในบริเวณเดียวกัน โดย 1 โรงงานจะสามารถผลิตสามารถผลิตพลังงานได้ประมาณโรงละ 1,000 MW ซึ่งจะสามารถผลิตพลังงานเพื่อป้อนเข้าสู่ระบบได้เป็นจำนวนประมาณ 4,000 MW ต่อปี ซึ่งถือว่า ช่วยแบ่งเบาภาระทางด้านพลังงานของชาติได้เป็นจำนวนที่มากแม้ในปัจจุบันเราต้องการพลังงานที่ใช้ในแต่ละปีเป็นจำนวนถึงประมาณ 20,000 MW ต่อปี

ในปัจจุบันนี้เทคโนโลยีเกี่ยวกับโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ถูกจัดให้อยู่ใน 3 Generation ซึ่งสามารถแบ่งโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ออกได้เป็น 3 แบบ คือ


1. โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบปฏิกรณ์น้ำเดือด (Boiling Water Reactor : BWR)
โดยอาศัยหลักการทำงานโดยการถ่ายทอดความร้อนของเชื้อเพลิงให้แก่น้ำจนกลายเป็นไอ และหมุนกังหัน ทำให้เกิดเป็นพลังงาน



เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบน้ำเดือด
ภาพจาก http://www.nst.or.th



2.โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบปฏิกรณ์ความดันสูง (Pressurized Water Reactor : PWR)
คล้ายคลึงกับแบบ Boiling Water Reactor (BWR)แต่แยกการทำงานเป็นสอง ลูปทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องสารกัมตภาพรังสีรั่วไหล แต่ข้อเสียคือต้องใช้งบประมาณที่สูงกว่า แบบ Boiling Water Reactor (BWR)



เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบใช้น้ำความดันสูง
ภาพจาก http://www.nst.or.th



3.โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบปฏิกรณ์น้ำมวลหนัก (Pressurized Heavy Water Reactor : PHWR)

มีหลักการทำงานที่คล้ายคลึงกับแบบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบปฏิกรณ์ความดันสูง (Pressurized Water Reactor : PWR)แต่ใช้ ดิวทอเรียม (D2O) ซึ่งเป็นไอโซโทปของไฮโดรเจนแทนที่น้ำ(H2O) ข้อดีของโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์แบบนี้คือใช้พลังงานเชื้อเพลิงน้อย แต่ข้อเสียคือ ดิวทอเรียม หาได้ยาก โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบปฏิกรณ์น้ำมวลหนักเรียกอีกอย่างว่า candu เนื่องจากประเทศแคนนาดาเป็นผู้ผลิตโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์แบบนี้



เครื่องปฏิกรณ์แบบใช้น้ำมวลหนัก
ภาพจาก http://www.nst.or.th


(* รายละเอียดเกี่ยวกับวิวัฒนาการของโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์จะนำเสนอในโอกาสต่อไป)

ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์เผยว่าแบบที่ได้รับความนิยมอย่างมากคือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบปฏิกรณ์ความดันสูง (Pressurized Water Reactor : PWR) และหากประเทศไทยมีการสร้างก็คงจะเลือกสร้างในแบบนี้เนื่องจากมีความปลอดภัยค่อนข้างสูง

สิ่งที่ถือว่าเป็นอุปสรรคสำคัญของการสร้างโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทยคือความเข้าใจของประชาชนเกี่ยวกับโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ มองว่าประชาชนไทยยังไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารที่เพียงพอทำให้เกิดความหวาดกลัวและยึดติดกับภาพการระเบิดของปฎิกริยานิวเคลียร์ในคราวสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวแทบจะเป็นไปไม่ได้เนื่องจาก การนำปฎิกริยานิวเคลียร์ไปสร้างเป็นระเบิดต้องใช้ความเข้มข้นของธาตุยูเรเนียมที่สูงกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ในขณะที่การสร้างโรงงานนิวเคลียร์ใช้ความเข้มข้นเพียง 3 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าเป็นความเข้มข้นที่น้อยมากเมื่อเทียบกับระเบิดนิวเคลียร์ ดังนั้นสิ่งสำคัญคือการเสริมสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชน


“สิ่งที่จำเป็นคือการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนต้องให้เขาได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง สื่อต่างๆเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชน และต้องให้ความรู้ทั้งข้อดีและข้อเสีย เช่น บอกว่าโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์สามารถสร้างพลังงานราคาถูกได้นะ และเราก้ต้องบอกเขาด้วยว่า มันก็มีโอกาสที่ จะเกิด อุบัติเหตุแต่เรามีการป้องกันควบคุมที่ดีแล้วมันจะไม่เกิด คือต้องให้ข้อมูลเขาทั้งสองด้าน แล้วเขาจะเชื่อมั่นในว่า คิดคำนวณมาดีแล้วความเชื่อมั่นก็จะสูง
สถานศึกษาก็เป็นสิ่งสำคัญ การให้ความรู้กับคนรุ่นใหม่ ต้องถ่ายทอดให้กับเขาถึงข้อดีข้อเสียและสิ่งที่ เทคโนโลยี หรือสิ่งต่างๆเกี่ยวกับโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ว่ามันไม่ได้อันตรายนะ
และอีกจุดหนึ่งที่ประชาชนควรจะทราบคือความจำเป็นของการมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ บางคนอาจจะไม่ทราบว่ารัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐ กฟผ.เอง เขาต้องพยายามอย่างมากในการเสาะหาพลังงานมาให้ประเทศเราได้ใช้ไม่ใช่ว่า ตอนนี้ก็ยังมีไฟฟ้าใช้นี้ พลังงานนิวเคลียร์ จะเป็นทางเลือก จะสร้างความมั่นคงให้กับประเทศในเชิงพลังงาน ”



โรงงานนิวเคลียร์
ภาพจาก http://blogazine.prachatai.com



สำหรับความคืบหน้าของปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันซึ่ง ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์เป็นหัวหน้าโครงการอยู่ด้วยนั้น ในส่วนของการร่วมมือกับประเทศฝรั่งเศสได้มีการเดินทางไปดูงาน และจะมีการร่วมมือเพื่อทำการศึกษาร่วมกัน และในส่วนของความร่วมมือกับ IAEA ซึ่งเพิ่งมีการประชุมเกี่ยวกับเทคโนโลยีนิวเคลียร์ฟิวชั่นไปนั้นก็จะมีการพัฒนาในด้านต่างๆต่อไป


“กับฝรั่งเศสผมได้เดินทางไปดูงานมาเป็นเวลาหนึ่งอาทิตย์ไปดูว่าเขาทำงานอย่างไร เครื่องไม้เครื่องมือเป็นอย่างไร เราก็ตกลงความร่วมมือกับเขา ซึ่งมีหลายส่วนที่เราจะร่วมมือกับเขาเช่นร่วมมือทางด้านการศึกษาร่วมมือเกี่ยวกับ ปรากฎการณ์ต่างๆที่จะเกิดขึ้น และเราจะควบคุมมันอย่างไรซึ่งก่อนจะควบคุมได้เราต้องเข้าใจ ก่อนหากไม่เข้าใจเราก็จะควบคุมมันไม่ได้อันนี้เราก็ได้ มีการแลกเปลี่ยนบุคคลากร รวมทั้งนักวิจัย อาจารย์ นักเรียนไปเรียนรู้ กับเขา ที่โน่นซึ่งมีระบบค่อนข้างดี มีห้องทดลองที่ค่อนข้างดี
ส่วนทาง AIEA ที่เราได้จัด ประชุมเกี่ยวกับเทคโนโลยีของโรงนิวเคลียร์ฟิวชั่น โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญจาก IAEA มา 3 ท่านให้ความรู้เกี่ยวกับการวางแผนพัฒนาทางด้านนิวเคลียร์ฟิวชั่นของเรา ซึ่งคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญนี้บอกว่าประเทศไทยควรมีแผนพัฒนา มีหลักสูตร เพื่อมาผลิตบุคลากรตรงนี้
เราวางแผนว่าเราจะสร้างห้องปฎิบัติการนิวเคลียร์ฟิวชั่นขึ้นมาในประเทศไทย ตอนนี้อยู่ในช่วงเขียนแผนเสนอให้รัฐบาล ในขณะเดียวกันผู้เชี่ยวชาญเขาได้ให้โอกาสกับประเทศไทย โดยการส่งตัวแทนของเราไปร่วมศึกษากับเขาเป็นเวลา 1 เดือนโดยจะไปประมาณเดือนหน้า ก็จะอยู่ในประเทศโปรตุเกส หรือในประเทศเชคโกสโวเกียเป็นเวลา 1 เดือน จะไปดูว่าขั้นตอนการทำงานการดำเนินงานเป็นอย่างไรการประกอบห้อง lab ต้องมีองค์ประกอบอะไรไรบ้างที่จำเป็นต่อการสร้างในประเทศไทย ”


ในอนาคตโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์แบบฟิสชั่นจะสามารถมีขึ้นได้หรือไม่ในประเทศไทยก็คงต้องขึ้นอยู่กับการศึกษาความเป็นไปได้จากผู้เชขียวชาญในหลายสาขาวิชา และความเห็นพ้องต้องกันของประชาชนชาวไทย แต่เมื่อถามความเห็นของผู้เชียวชาญอย่าง ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์แล้ว ดร.ธวัชชัย ค่อนข้างเชื่อมั่นว่าโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อสังคมไทยในสภาวะการณ์ในปัจจุบัน


“ต้องมีแน่นอนเราไม่มีทางเลือกตอนนี้เพราะทุกวันนี้ความต้องการของเราทางพลังงาน เพิ่มมาขึ้นเรื่อยๆประชากรก็มากขึ้น เราใช้ไฟฟ้ามากขึ้นเราต้องการปริมาณที่มหาศาลมากดังนั้นทางออกกก็คือไม่ถ่านหินและนิวเคลียร์ ซึ่งประเทศไทยไม่มี ถ่านหิน เราพอมีแต่ไม่มากพออย่างตอนนี้ถ่านหินที่เราใช้อยู่ เราต้องไป ซื้อจากอินโดนีเซีย ปัญหาของถ่านหินก็คือเขม่าและคาร์บอนไดออกไซต์ ถ้า เรารวมเทคโนโลยีของตัวใหม่ ที่เราต้องนำมาใช้คือคาร์บอนแคปเจอร์เพื่อลดปริมาณของคาร์บอนที่เราต้องใช้ไป ก็จะทำให้ต้นทุนของถ่านหินมีมากขึ้น
ราคาก็จะใกล้เคียงหรือแพงกว่าโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ทันที หรือที่เขาพูดกันบ่อยๆเรื่องคาร์บอนเครดิตว่าประเทศไหนที่ ปล่อยคาร์บอนมากก็จะต้อง จ่ายเงินมาก ทำให้ราคา ของไฟฟ้าต่อ หน่วย ก็จะสูงกว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ พอถึงตอนนั้นโรงงานนิวเคลียร์จะเป็นสิ่งที่ให้พลังงานที่ราคาถูกที่สุดและมีปริมาณ ที่เพียงพอต่อความต้องการของเราได้ มันต้องมีแน่นอน เพียงแต่ว่าถ้าคนไทยยอมจ่ายค่าไฟฟ้าราคาแพงได้ เราก็ไม่จำเป็นแต่ถ้าต้องการพลังงานราคาถูกก็จำเป็นต้องใช้ ”

ข้อมูลจาก วิชาการ.คอม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น